วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2559

กลุ่มผู้ประกอบการจีพีเอส งานเข้าเมื่อเจ้าของอนุสิทธิบัตรยื่นฟ้อง

กลุ่มผู้ประกอบการจีพีเอส งานเข้าเมื่อเจ้าของอนุสิทธิบัตรยื่นฟ้อง อนุสิทธิบัตร เลขที่ 7466 ชื่อการประดิษฐ์ เครื่องอ่านข้อมูลจากบัตรสมาร์ตการ์ด ที่สามารถระบุตำแหน่งของเครื่องอ่านและเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างเซิร์ฟเวอร์ด้วยระบบจีพีอาร์เอสได้ โดยนายสามารถ สร้างบัณฑิตสกุล เจ้าของบริษัท มายมูฟ เทคโนโลยี จำกัด ก่อนอื่นผู้เขียนจะลองนำไปค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมดูก่อนว่า อนุสิทธิบัตรคืออะไร

อนุสิทธิบัตร (Petty Patent) คือ หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์จะมีลักษณะคล้ายกันกับการประดิษฐ์ แต่เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่มีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีไม่สูงมาก หรือเป็นการประดิษฐ์คิดค้นเพียงเล็กน้อย และมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น

สิทธิบัตร (Patent) หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด เป็นสิทธิพิเศษ ที่ให้ผู้ประดิษฐ์คิดค้นหรือผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ มีสิทธิที่จะผลิตสินค้า จำหน่ายสินค้าแต่เพียงผู้เดียว ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การประดิษฐ์ (Invention) หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับ ลักษณะองค์ประกอบ โครงสร้างหรือกลไกของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิตการรักษา หรือปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น หรือทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่ ที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น กลไกของเครื่องยนต์ ,ยารักษาโรค, ,วิธีการในการเก็บรักษาพืชผักผลไม้ไม่ให้เน่าเสียเร็วเกินไป เป็นต้น

 ดูจากคำฟ้อง ตั้งใจจะฟ้องว่ามีคัดลอกความคิด "เครื่องอ่านข้อมูลจากบัตรสมาร์ตการ์ด ที่สามารถระบุตำแหน่งของเครื่องอ่านและเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างเซิร์ฟเวอร์ด้วยระบบจีพีอาร์เอสได้"

แต่ในระบบที่ใช้งานจริงข้อมูลบัตรใบอนุญาตขับรถเป็นแบบแถบแม่เหล็ก ต่างจากชนิดสมาร์ตการ์ดโดยสิ้นเชิง ตามข้อมูลจากวิกิพีเดีย ตัวบัตรสมาร์ตการ์ตจะต้องมีการฝังชิปหรือมีหน่วยประมวลผลหลัก(CPU)อยู่ในบัตรด้วย แต่บัตรชนิดแถบแม่เหล็กไม่มี

สมาร์ตการ์ด แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

สมาร์ตการ์ดแบบสัมผัส (contact smart card) ตัวบัตรมีการฝังชิปใต้หน้าสัมผัสที่เป็นแผ่นโลหะสีทองขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งนิ้วไว้ที่ด้านหน้าของบัตร ตอนใช้งานต้องสอดบัตรเข้าในเครื่องอ่านให้หน้าสัมผัสของบัตรได้แตะกับหน้าสัมผัสภายในเครื่องอ่านบัตร ส่วนใหญ่จะเป็นกับบัตรเครดิตหรือบัตรเอทีเอ็ม ปัจจุบันประเทศไทยได้ใช้สมาร์ตการ์ดชนิดนี้ทำบัตรประจำตัวประชาชนหรือซิมการ์ดของโทรศัพท์มือถือ ปัจจุบันมีการทำบัตรเครดิตที่เป็นสมาร์ทการ์ดแบบสัมผัสด้วยเป็นบัตรวีซ่า pay wave เช่น บัตรบลูการ์ด

สมาร์ตการ์ดแบบไร้สัมผัส

สมาร์ตการ์ดแบบไร้สัมผัส (contactless smart card) ตัวบัตรจะมีการฝังชิปและขดลวดสายอากาศเอาไว้ภายในซึ่งอาจมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น สามารถติดต่อกับเครื่องอ่านบัตรที่รับส่งสัญญาณผ่านคลื่นวิทยุได้ในระยะที่กำหนด ซึ่งอาจเป็นระยะที่ใกล้ชิด (proximity card) หรือระยะที่ใกล้เคียง (vicinity card) แล้วแต่มาตรฐานของบัตร โดยไม่จำเป็นต้องให้บัตรสัมผัสกับเครื่องอ่านดังกล่าว ส่วนใหญ่จะใช้กับบัตรเก็บเงินทางด่วน บัตรโดยสารของรถไฟฟ้า บีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดิน และบัตรชำระเงินย่อยเช่นบัตร Smart Purse เป็นต้น

สาระสำคัญอีกอีกเรื่องก็คือจุดประสงค์ของอนุสิทธิบัตรเป็นการกล่าวถึงเครื่องอ่านบัตรสมาร์ตการ์ดที่สามารถระบตำแหน่งได้ ต่างจากอุปกรณ์จีพีเอสติดตามรถยนต์โดยทั่วไปคือ อุปกรณ์จีพีเอสติดตามรถหมายถึงเครื่องระบุตำแหน่งจากดาวเทียมจีพีเอสส่งพิกัดไปยังเซิร์ฟเวอร์ผ่านเครือข่ายมือถือ แต่มีความสามารถในการอ่านข้อมูลจากบัตรใบอนุญาตขับรถชนิดแถบแม่เหล็ก ฟังก์ชั่นในการอ่านข้อมูลจากบัตรใบอนุญาตขับรถในทางเทคนิคก็คืออุปกรณ์จีพีเอสติดตามรถยนต์ที่มีพอร์ตการเชื่อมต่อแบบ RS232 หรือรุ่นที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ตัวอ่าน RFID ได้ก็สามารถใช้งานได้ เพียงแค่ให้เครื่องอ่านบัตรอนุญาตขับรถส่งข้อมูลแทร็คที่ 3 ไปด้วยอย่างครบถ้วน

อีกข้อที่เป็นประเด็นสำคัญในการตีความก็คือการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายจีพีอาร์เอส แต่ในปัจจุบันเครื่องอุปกรณ์จีพีเอสติดตามรถเองมีการใช้งานในย่านความถี่ 2100MHZ หรือคลื่นความถี่ 3G กันแล้ว ดังนั้นอุปกรณ์ 3G GPS กรมการขนส่งทางบก ย่อมไม่เข้าข่ายการถูกฟ้องร้องเรื่องอนุสิทธิบัตรตามความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน

คงต้องติดตามกันต่อไปว่าผลการฟ้องร้องจะออกมาในรูปแบบใด แต่สาระสำคัญที่ทางบริษัท มายมูฟ เทคโนโลยี จำกัดได้เปรียบกว่าคู่แข่งขันก็คือ หากศาลรับคำฟ้องนัดไต่สวน สั่งห้ามบริษัทฯที่ถูกยื่นฟ้องระงับการจำหน่ายชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษาก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงแล้ว เพราะคู่แข่งไม่สามารถจำหน่ายอุปกรณ์ในช่วงเวลาสำคัญที่กฎหมายบังคับใช้ สูญเสียตลาดและมูลค่าทางธุรกิจอย่างประเมินมูลค่าไม่ได้  ส่วนผู้เขียนจะได้ติดตามและนำเสนอเรื่องราวดี ๆ วงในแบบห่าง ๆ มานำเสนอกันในโอกาสต่อไป